top of page
FB-COVER.jpg

ในยุคที่การสร้างธุรกิจส่วนตัวเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และสามารถทำได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีหน้าร้านหรือธุรกิจออนไลน์ ผู้ประกอบการ   ( ผู้ประกอบการพาณิชย์ ) มือใหม่หลายๆ ท่าน นอกจากที่ต้องทราบหน้าที่ของตนในการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว อาจจะเกิดความสับสนและไม่ทราบว่าตนเองมีหน้าที่จะต้องไปขึ้นทะเบียนอื่นอีกหรือไม่?

ทะเบียนพาณิชย์ หรือที่เรียกว่า ทะเบียนการค้า เป็นกลไกในการจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2553 ซึ่งได้ระบุไว้ว่าการดำเนินธุรกิจใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นในนาม “บุคคลธรรมดา” หรือ “นิติบุคคล” ที่ประกอบกิจการตามที่กำหนดในประกาศฯ จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการระบุการมีตัวตน เพิ่มความน่าเชื่อถือ และสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้าของผู้ประกอบการพาณิชย์ โดยการจดทะเบียนพาณิชย์มีแบบธรรมดา (มีหน้าร้านและออฟไลน์) และจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ขายสินค้าออนไลน์) ซึ่งแยกการจดทะเบียนตามผู้ประกอบการพาณิชย์ดังนี้

ก. ผู้ประกอบการธุรกิจพาณิชย์ ยกเว้นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจดังต่อไปนี้ ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต้องจดทะเบียนพาณิชย์

(1) ผู้ประกอบกิจการโรงสีข้าวและโรงเลื่อยที่ใช้เครื่องจักร

(2) ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่าง คิดรวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งขายได้เป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือมีสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อขายมีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป

(3) นายหน้าหรือตัวแทนค้าต่างซึ่งทำการเกี่ยวกับสินค้าไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม และสินค้านั้นมีค่ารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป

(4) ผู้ประกอบกิจการหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม และขายสินค้าที่ผลิตได้ คิดราคารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไปหรือในวันหนึ่งวันใดมีสินค้าที่ผลิตได้มีราคารวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป

(5) ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางทะเล การขนส่งโดยเรือกลไฟหรือเรือยนต์ประจำทาง การขนส่งโดยรถไฟ การขนส่งโดยรถราง การขนส่งโดยรถยนต์ประจำทาง การขายทอดตลาด การรับซื้อขายที่ดิน การให้กู้ยืมเงิน การรับแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การซื้อหรือขายตั๋วเงิน การธนาคาร การโพยก๊วน การทำโรงรับ จำนำ และการทำโรงแรม

ข. ผู้ประกอบการธุรกิจพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจดังต่อไปนี้ ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต้องจดทะเบียนพาณิชย์

(1) ขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดีทัศน์ แผ่นวีดีทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดีทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง

(2) ขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี

(3) ซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

(4) บริการอินเทอร์เน็ต

(5) ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย

(6) บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

(7) การผลิต รับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง

( 8 ) การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเทอร์เน็ต

(9) การให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ

(10) การให้บริการเครื่องเล่นเกมส์

(11) การให้บริการตู้เพลง

(12) โรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีก การค้าส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง

สำหรับธุรกิจผู้ประกอบการพาณิชย์ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ คือ การค้าเร่และการค้าแผงลอย

โดยสามารถยื่นจดทะเบียนได้ตามเขตพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

1. ผู้ประกอบการที่มีสถานที่ประกอบการตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนการค้าที่สำนักงานเขต 50 เขต โดยเราต้องยื่นจดทะเบียนการค้าในเขตที่ธุรกิจของเราตั้งอยู่เท่านั้น หรือยื่นที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

2. ผู้ประกอบการที่มีสถานที่ประกอบการตั้งอยู่จังหวัดอื่น ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนการค้าที่เมืองพัทยา เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตที่ธุรกิจของเราตั้งอยู่

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจคนเดียวหรือหลายคน หรือเป็นนิติบุคคลเอง ได้ประกอบธุรกิจตามเงื่อนไขข้างต้น จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญทั้งในแง่ของกฎหมาย และความน่าเชื่อถือของกิจการ และหากคุณมีหน้าที่ที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว จะต้องดำเนินการภายใน 30 วันนับจากวันเริ่มกิจการกับหน่วยงานที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดในเขตพื้นที่ที่กิจการตั้งอยู่

อ้างอิงจาก

https://bit.ly/35k3rJW

https://bit.ly/2RRID9x

https://bit.ly/3gwmohQ

บริษัท ชัยวรรณการบัญชี จำกัด 

190, หมู่ 15, ถนนมีชัย ต.ในเมือง อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย 

โทร 061 993 5195, E-Mail : info@chaiwanaccountancy.com

  • Facebook
  • Spotify
  • YouTube
  • RSS
bottom of page