“สินทรัพย์ไม่มีตัวตัน” มองไม่เห็นแต่มีมูลค่า
หากพูดถึงสินทรัพย์แล้ว คุณอาจจะนึกถึง ที่ดิน อาคาร โต๊ะ เก้าอี้ ที่คุณสามารถมองเห็น แต่ความจริงแล้วบนโลกแห่งการเงิน จะมีสินทรัพย์ที่เราไม่สามารถจับต้องได้ ตัวอย่างเช่น สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิทคอยน์เองถูกบันทึกในรายการบัญชีภายใต้สินทรัพย์ที่เรียกว่า “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” อะไรคือสินทรัพย์ไม่มีตัวตน มีกฎเกณฑ์อย่างไรในการบันทึก สรรพากรมีมุมมองในสินทรัพย์นี้อย่างไร บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักให้มากขึ้น
ในมุมของทางบัญชี สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 38 ที่ประกาศโดยสภาวิชาชีพบัญชี ได้ระบุไว้โดยสรุปดังนี้
1. ต้องสามารถ “ระบุได้” คำนี้อาจจะดูย้อนแย้งกับคำว่า “ไม่มีตัวตน” โดย “ระบุได้” เป็นคำสำคัญที่มาตรฐานการบัญชีต้องการแยกระหว่าง “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” กับ “ค่าความนิยม” ออกจากกัน ซึ่งค่านิยมถือเป็นสินทรัพย์ที่แสดงถึงประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตที่เกิดจากสินทรัพย์อื่นที่ได้มาจากการรวมธุรกิจ (เพื่อให้เข้าใจ ค่าความนิยม เป็นสินทรัพย์ที่ไม่สามารถระบุได้) ย้อนกลับมาในเรื่องของความสามารถระบุได้จะแบ่งได้เป็น 2 กรณี
i) สามารถแยกเป็นเอกเทศได้ กล่าวคือสามารถแยกหรือแบ่งออกจากกิจการ และสามารถขาย โอน ให้สิทธิ ให้เช่า หรือแลกเปลี่ยนได้อย่างเอกเทศ หรือรวมกับสัญญา สินทรัพย์หรือหนี้สินที่เกี่ยวข้อง หรือ
ii) ได้มาจากการทำสัญญา หรือสิทธิทางกฎหมายอื่น ๆ
2. ก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งเงื่อนไขนี้เป็นหลักของสินทรัพย์ทั่วไปที่ต้องมี
3. อยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการ สามารถจำกัดไม่ให้ผู้อื่นเข้าถึงประโยชน์ของสินทรัพย์ได้
สำหรับการบันทึกบัญชีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจะมีกลไกดังนี้
1. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากสินทรัพย์ และ
2. ราคาทุนของสินทรัพย์สามารถวัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ
หากจะยกตัวอย่างสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนที่ไม่สามารถรับรู้เป็นสินทรัพย์ได้เช่น ฐานข้อมูลลูกค้า ซึ่งยังไม่สามารถวัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ ทำให้กิจการอาจต้องบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ากำไรขาดทุน(PL) แทนการบันทึกเป็นสินทรัพย์(BS) แต่ในกรณีที่กิจการซื้อฐานข้อมูลลูกค้าจากกิจการอื่นก็ถือเป็นสินทรัพย์ได้เพราะสามารถวัดมูลค่าได้อย่างเชื่อถือจากราคาซื้อ
ในมุมมองทางภาษีหรือสรรพากรเค้ามองสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอย่างไร?
เมื่อสินทรัพย์ไม่มีตัวตนนั้นถือเป็นสินทรัพย์ของกิจการ ค่าใช่จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ในทางภาษีจึงถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน เข้าข่ายเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีตามมาตรา 65 ตรี (5) แต่กิจการสามารถนำสินทรัพย์ไม่มีตัวตนทั้งที่มีอายุการใช้งานจำกัดและไม่จำกัด ตัดจำหน่ายเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ย้อนกลับไปทางด้านบัญชีอีกซักหน่อยในเรื่องของการตัดจำหน่าย จะแตกต่างจากทางภาษีในเรื่องสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุไม่จำกัด ซึ่งกิจการไม่ต้องตัดจำหน่ายแต่ต้องทดสอบการด้อยค่าทุกปีหรือมีข้อบ่งชี้ หากเกิดผลขาดทุนจากการด้อยค่า (ไม่ว่าสินทรัพย์มีอายุการใช้งานจำกัดหรือไม่จำกัด) ในทางบัญชีจะบันทึกเข้ากำไรขาดทุน ในทางตรงกันข้ามทางภาษีเองไม่ยอมรับผลขาดทุนจากการด้อยที่เกิดขึ้น ไม่สามารถนำผลขาดทุนดังกล่าวมาเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีได้ ตามมาตรา 65 ตรี (17) ภายใต้ข้อบังคับมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
สรุปแล้วสินทรัพย์ไม่มีตัวตนถึงแม้เรามองไม่เห็นหรือจับต้องได้ แต่ด้วยตัวของมันเองมีมูลค่าที่ธุรกิจจะต้องแสดงให้เห็นในระบบบัญชีและงบการเงิน โดยทยอยตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนให้เป็นไปมาตรฐานการบัญชีและหลักเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด