ดอกเบี้ย เป็นผลตอบแทนจากการลงทุนหรือการให้กู้ยืมที่นักลงทุนคุ้นเคยกันดี วันนี้เราไม่ได้มาพูดถึงดอกเบี้ยที่เป็นผลตอบแทน แต่เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกลไกและความมหัศจรรย์ของการคำนวณดอกเบี้ยอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest)
การทบต้นของดอกเบี้ย เป็นกลไกที่นำเอาเงินต้น (Principal) กับดอกเบี้ย (Interest) มารวมกันเป็นเงินต้นก้อนใหม่ แล้วนำยอดเงินนั้นมาเป็นฐานในการคำนวณดอกเบี้ยอีกที เมื่อเงินต้นเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยที่ได้รับจึงเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนไปด้วย โดย 3 ปัจจัยที่สำคัญ คือ อัตราดอกเบี้ย เวลา และการนำดอกเบี้ยมาลงทุนเพิ่ม (ทบต้น)
ดอกเบี้ยทบต้นยังมีความเกี่ยวข้องกับกฎของตัวเลข 72 ( Rule of 72 ) ซึ่งเป็นหลักการคาดคะเนจำนวนปีอย่างคร่าวๆ ที่นักลงทุนจะสามารถได้ผลตอบแทนเป็นสองเท่าจากการลงทุนที่มีดอกเบี้ยทบต้น โดยแค่เอาเลข 72 หารด้วย อัตราดอกเบี้ย ( Rate of return on an investment ) ยกตัวอย่าง นาย A ลงทุน 5 ล้านบาท ในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยทบต้นต่อปี 2% ดังนั้นเงินลงทุนของนาย A จะโตเป็นสองเท่าที่ 10 ล้านบาท จะต้องใช้เวลาประมาณ ( 72 / 2 ) เท่ากับ 36 ปี หรืออาจจะสามารถใช้ในการคำนวณผลกระทบภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ได้ ตัวอย่าง นาย A คาดว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อที่ 3% ต่อปี ดังนั้นเงินลงทุนของเขาจะด้อยมูลค่าเหลือครึ่งหนึ่งจะใช้เวลา ( 72 / 3 ) = 24 ปี
สำหรับมุมของนักลงทุนแล้วนั้น ระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานและต่อเนื่อง ผลของดอกเบี้ยของเงินต้นและดอกเบี้ยของดอกเบี้ยจะโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราเห็นผลตอบแทนที่ค่อนข้างก้าวกระโดด แต่ต้องแลกมาด้วยความมีวินัยและความอดทนในการออมเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายของเรา ในทางกลับกันถ้าหากเราเป็นลูกหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้ การคำนวณดอกเบี้ยแบบทบต้นคงเป็นฝันร้ายขึ้นมาทันที เพราะยิ่งหากเราปล่อยเวลาการก่อหนี้ไว้นานเท่าไหร่ ยอดหนี้ที่ทบต้นกับดอกเบี้ยก็จะยิ่งทวีคูณมากยิ่งขึ้นเป็นเท่าตัว
เมื่อได้รู้ถึงข้อดีและข้อเสียของดอกเบี้ยทบต้นในแต่ละด้านแล้วนั้น ถึงเวลาที่เราจะต้องวางแผนบริหารจัดการเงินของตัวเองให้ดีตั้งแต่วันนี้เพื่อผลประโยชน์ของเราในระยะยาว
อ้างอิง :